เหตุใดเราจึงควรใส่ใจเกี่ยวกับแง่มุมทางจิตของการเทรด?

Image
เหตุใดเราจึงควรใส่ใจเกี่ยวกับแง่มุมทางจิตของการเทรด?  Dr. Van K. Tharp พูดเสมอว่า “นักเทรดไม่เทรดตามที่ตลาดเป็นหรอก  แต่พวกเขาเทรดตามความเชื่อของพวกเขา”   เรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างสมบูรณ์   ความเชื่อของผมมีดังนี้:  1) นักเทรดที่ประสบความสำเร็จมีกลไกการซื้อ/ขายที่สมเหตุสมผลและช่วยให้เขาลงมือตามสัญญาณได้ทันที   2) นักเทรดที่ประสบความสำเร็จมีแนวทางที่สมเหตุสมผลในการกำหนด Position Size ของเขาอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยลดความน่าจะเป็นที่จะถูกทำลาย   3) นักเทรดที่ประสบความสำเร็จมีกลยุทธ์ที่ช่วยลด Drawdown ของ Equity Curve เพื่อทำให้เขาเครียดน้อยลง   4) ตลาดจะเปลี่ยนแปลงเสมอ มันจะขึ้น, ลง, และไซด์เวย์ 5) การลอกกลยุทธ์คนอื่นมาใช้ทั้งดุ้น มักจะไม่เวิร์ค  การสร้างกลยุทธ์หรือพัฒนากลยุทธ์ที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณคือแนวทางที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า 6) ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในการเทรด   7) ตลาดจะทำในสิ่งที่มันอยากจะทำ - Tom Basso จากหนังสือ The All-Weather Trader

รีวิวการเก็งกำไรของผมในปี 2560

โดย เซียว จับอิดนึ้ง : facebook.com/zyoit


ปีที่แล้วมีรายงานว่า SET บวก ประมาณ 17% ส่วนพอร์ตผมฟื้นตัวกลับมาได้ประมาณ 30% ก็ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีไม่น้อย

ที่ว่าฟื้นตัว เพราะ 4 ปีก่อนหน้านี้ พอร์ตผมขาดทุนมาโดยตลอด คร่าวๆคือเงินหายไปมากกว่า 50% เลยทีเดียว ถือว่าเป็นค่าเทอมที่สูงเอาการ เนื่องจากเป็นนักเรียนหัวขี้เลื่อย สอบตกแล้วไม่จำ จนต้องลงเรียนซ้ำหลายรอบ กว่าจะเข้าใจและทำข้อสอบได้

ดังนั้น ระยะนี้จึงเป็นการทำงานหาเงินใช้ทุนคืนค่าเทอม ซะมากกว่า
เรื่องรวยยังไม่ต้องคิดกันหรอก ทำเงินให้กลับมาคืนทุน คือสิ่งจำเป็นอันดับแรก
จึงซึ้งใจกับคำพูดของนักลงทุนเก่าๆที่บอกถึงความยากลำบากในการทำเงินเพื่อให้เงินทุนกลับมาให้ได้เท่าเดิม ยิ่งปล่อยให้ขาดทุนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งยากรากเลือดมากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งแน่นอนว่า ผมขาดทุนไปกว่า 50% หากอยากได้ทุนคืน ต้องทำเงินให้ได้ 100% เป็นอย่างน้อยถึงจะเสมอตัว
หืดขึ้นคอเลยครับ ถ้ามองไปที่เป้าหมาย
แต่ก็สนุกเป็นบ้าเลย ถ้ามองย้อนกลับไปถึงรอยทางที่เพิ่งผ่าน

ที่ว่าสนุก ก็คือ เราได้เห็น พัฒนาการ ย่างก้าว ของตัวเองในทางที่ดีขึ้น
4 ปีก่อนหน้านี้ ผมเลือกเข้าไปเล่นเกมส์ที่ตัวเองไม่มีทางชนะ
และเป็นรองตั้งแต่ออกตัวเลยทีเดียว
เกมที่ว่านั้นคืออะไร? (แม้จะบอกไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็อยากโชว์ห่วยอีก)
๑) พยายามซื้อหุ้นที่ราคาต่ำสุด ผมเคยมีความเชื่อว่า ถ้าได้หุ้นราคาต่ำสุดแล้ว เราจะมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุน ทนถือได้อย่างสบายใจ ซึ่งเป็นความจริง ถ้าราคากลับตัวทันที แต่กระนั้น 90% ของหุ้นที่ผมเข้าไปเล่น กลับไม่ใช่จุดต่ำสุด มันยังจะลงได้อีก เพราะว่า...
๒) ผมดันไปเลือกหุ้น turnaround ต่ำบาท ที่ผลประกอบการ และความตั้งใจทำงานของผู้บริหารอยู่ในระดับต่ำมาตรฐาน ซื้อเพราะคาดหวังว่าเขาจะกลายเป็นคนดี หรือฟ้าเปลี่ยนสี โชคดีจะกลับมาเข้าข้างบริษัทนั้น ผลก็คือ เราคิดไปเองฝ่ายเดียว เพราะผลปรระกอบการของหุ้นพวกนั้น ยิ่งนับวันยิ่งเลวร้าย ราคาก็เลยนิวโลว์ได้อีก เราก็ขาดทุนเพิ่ม พอร์ตเละ
๓) การที่ผมเลือกซื้อหุ้นไม่เป็นนี้แหละ ทำให้ตัวเองขาดทุน ตั้งแต่เริ่มซื้อเลย เพราะเข้าแล้วราคาไม่นิ่ง ก็ดิ่งลงให้เสียหายทันที กลายเป็นเบี้ยล่างหรือทาสของหุ้นตัวนั้นโดยปริยาย เพราะต้องเฝ้าภาวนาให้เด้ง หรือต้องเพียรหาข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้ตัวเองยังเชื่อมั่นในหุ้นตัวนั้นอยู่ จะได้ไม่ขายให้ขาดทุน
...แต่ในที่สุดก็ทนไม่ไหว ขายออกเมื่อราคาลงหนักจนได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ผิดที่แนวทางการลงทุนหุ้น turnaround หรอกนะครับ มันผิดที่ผมเอง ตรงที่มองธุรกิจไม่ขาด ใช้กราฟไม่เป็น และไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด ก็เลยถัวขาลงให้พอร์ตเสียหาย


Good Year
พอถึงต้นปี 2016 นี่เองครับ ที่ผมรู้สึกทนไม่ไหวกับแนวทางการลงทุนที่ไร้ประสิทธิภาพของตัวเอง จึงตัดสินใจ "หักดิบ" ตนเองแบบ 180 องศา
๑) เลิกคิดที่จะซื้อที่จุดต่ำสุด แต่พยายามซื้อที่ 52 week high แรก แทน
๒) เลิกเล่นหุ้น turnaround แต่ให้เล่นหุ้นเติบโตแทน
๓) เลิกถัวขาลง แต่ให้ซื้อเพิ่มเมื่อราคานิวไฮแทน
๔) เลิกซื้อหุ้นขาลง แต่ซื้อหุ้นที่อยู่ในแนวโน้มขาขึ้นแทน
๕) ให้ควาามสำคัญกับ price pattern มากขึ้น เพราะมันให้จุดซื้อที่ได้เปรียบ และกำไรไว
๖) เลิกทนรับการขาดทุน แต่สร้างความรู้สึกรังเกียจการขาดทุนเข้ามาแทนที่ จะไม่ทนเห็นการขาดทุน เกิน 10% อีกต่อไป กระทั่ง 5% ก็อึดอัด และอยากจะขายออกไปให้ไวๆ เพราะมันเริ่มทำตัวน่ารังเกียจเหลือประมาณ คือเราซื้อหุ้นตัวหนึ่งๆก็หวังว่ามันจะกำไรให้เราทันที ก็ได้รอจังหวะที่ใช่แล้ว แต่หากซื้อแล้วมันไม่ไปตังใจหวัง ก็แสดงว่าเราคิดผิดแล้ว

และอีกอย่างที่ผมหักดิบคือ "ไม่เติมเงิน" จะใช้เศษเงินที่เหลืออยู่นี่แหละ สร้างคืนให้มันกลับมาเหมือนเดิมให้ได้ เพราะเชื่อว่า ถ้าเรายังไม่สำนึกว่าตัวเองเป็นต้นตอของความผิดพลาดทั้งมวล และไม่ทำการปรับปรุงแก้ไขให้วิธีคิดและความเชื่อเปลี่ยนไปในทางที่ดี การเติมเงินครั้งต่อไปก็ไม่ต่างจากการเอาแบงค์พันมาเผาเล่นเรื่อยไป หากแผลเก่ายังไม่หายดี เรายังดันทุรังออกไปสู้ เชื่อเถอะโอกาสตาย(คือเสียเงิน)โง่ๆกลางศึกมีสูงมาก
เงินมันอยู่กับคนโง่ได้ไม่นานหรอก ผมเชื่ออย่างนั้น

เมื่อคิดได้ และมีเป้าที่เร้าใจแบบนี้ ผลงานก็พลิกเลยครับ
แม้มันจะไม่กลับมา 100% ภายในปีเดียว แค่นี้ผมก็รู้สึกดีกับตัวเองมากพอแล้วครับ รู้ว่าแนวทางที่ใช่กับเรา มันเป็นแบบนี้นี่เอง
ผมได้เจอและเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นวิ่งดีๆแรงๆของปีที่แล้วไปหลายตัว ไม่ว่าจะเป็น GCAP, MEGA, WORK, M, NETBAY, RS, HTECH, TKS, COL ฯลฯ แต่กลับเฉียดรวยกับพวกมัน เพราะว่าความอดทนมีไม่พอ หรือบางตัวก็ซื้อน้อยซะจนกำไรที่ได้ไม่มีนัยยะ
ดังนั้นความท้าทายใหม่ของผมในปีนี้ก็คือ หาแนวทางทนรวยกับหุ้นดีๆ ให้ได้อย่างน้อยสักเด้งก็พอ ได้แค่ปีละตัวก็คุ้ม

อาจจะดูน่าขันสำหรับเซียนผู้เจนจัดส่วนใหญ่ ว่าทำไมต้องทนขนาดนั้นด้วย แต่ก็น่าสนุกเหลือเกินถ้าทำได้ และอีกอย่างที่ผมเจอคือแต่ละปีหุ้นที่วิ่งดีสวยๆมีน้อยเหลือเกิน ถ้าเราได้ของดีคุณภาพสูงไปอยู่กับตัวแล้ว การกำไรหุ้นแค่ตัวเดียว ก็สามารถเปลี่ยนเปอร์เซ็นต์ของพอร์ตได้เลย
ถ้าเราสามารถตีโฮมรันได้ ก็ไม่ต้องไปมัวตีบันท์ ขโมยเบส ให้เสียของ

ถึงกระนั้น ผมก็ไม่ลืมระวังหลัง เพราะไม่อยากกลับลงไปอาศัยอยู่ในนรกอีก จึงจำกัดเพดานการซื้อต่อตัวคือ 20% ของพอร์ตเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าเราจะอยากได้ เชื่อ แต่ตลาดไม่ให้ หรือเราอาจมองผิด เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ในตลาดเก็งกำไร ก็ต้องจำกัดการเสียหายให้น้อยที่สุด


แต่อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้วผมก็ยังมีติดนิสัยเสียเดิมๆ ที่แก้ไม่หายอยู่ คือ
- bias กับธุรกิจบางประเภท และการ turnaround ผมยังต้องเสียเงินไปกับการ stop loss หุ้นซอฟท์แวร์ตัวหนึ่ง เพราะชอบธุรกิจ และอยากได้ตั้งแต่ต้นเทรนด์ ผลก็คือมันยังอ่อนแอเกินไป แม้จะฟื้นตัวแล้ว แต่ก็ยังดูแลตัวเองไม่ได้ ราคาจึงร่วงกลับลงไปให้ต้องตัดใจขายขาดทุน ,หุ้นบรอดแบนด์รายเล็กตัวหนึ่งก็ทำร้ายพอร์ตผมไม่น้อยเช่นกันครับ ที่สุดแล้วก็ทนขาดทุนไม่ไหวขายออกไป
สรุปคือ ผมแพ้การซื้อหุ้นที่ต้นเทรนด์อย่างสิ้นเชิง อาจเป็นเพราะไม่ได้ดูผลประกอบการที่ฟื้นตัว ภายในยังไม่ฟื้นอย่างแท้จริง เชื่อธุรกิจมากเกินไป และคิดไปเองว่าน่าจะดี
ในขณะเดียวกันก็สังเกตพบว่า หุ้นที่เป็นขาขึ้น มันก็ยังขึ้นได้อีก ก็ยิ่งตอกย้ำความงี่เง่าของตัวเองว่า จะไปมัวเสียดายให้เวลากับหุ้นอ่อนแอไปทำไม ยิ่งทนถือยิ่งเสียสุขภาพจิต เพราะทุกวันต้องมีการเปรียบเทียบอยู่แล้ว ตัวอื่นวิ่งดีแต่ตัวนี้ทำไมยังซึมอยู่ได้
- อีกอย่างคือ รีบขายเกินไป อดทนไม่พอ ทำให้ขายหมูหุ้นชั้นยอดไปหลายตัว จึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องแนวรับ และเรียนรู้พฤติกรรมราคาเพิ่มเติมอีกเยอะ

ต่อไปผมตั้งใจว่าต้องให้ความสำคัญกับกราฟก่อนเสมอ เพราะกระแสเงินเท่านั้นที่ดันราคาให้ขึ้นได้ ซึ่งมันจะแสดงออกผ่านกราฟนั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม พื้นฐานการทำธุรกิจก็สำคัญไม่น้อย ผลประกอบการที่ดีในอดีตและน่าจะดีต่อในอนาคต ก็สามารถดึงดูดนักลงทุนระยะยาวแสนฉลาดให้เข้ามาพยุงราคาในยามที่ตลาดผันผวนได้เช่นกันครับ ซึ่งจุดหยุดลงเนื่องจากคนฉลาดเข้าซื้อนี่แหละน่าสนใจ ถ้าเราอ่านออกและกล้าซื้อ ก็จะได้ทุนที่มีเปรียบเอามากๆ
สรุปคือ ดูทั้งคู่แหละ เลือกโฟกัสแค่หุ้นพื้นฐานดี มันก็มีให้เล่นเหลือเฟือแล้ว ส่วนหุ้นปั่นก็ให้คนใจถึงเขาเล่นกันไป ผมขอวางมือแค่นี้


โดยปีที่แล้วแนวทางที่ทำเงินให้กับผมเป็นอย่างมากคือ
๑) การเกาะกระแสหุ้นที่เป็นขาขึ้นอยู่แล้ว ราคาที่ดูเหมือนแพงไปแล้ว มันสามารถแพงได้อีก ซื้อในช่วงที่มันพักเหนื่อยในแนวโน้มขาขึ้น
วิธีการดูคือ ผมจะพยายามหา รูปแบบ cup with handle ที่มันย่อพักเหนื่อยในช่วงขาขึ้นให้เจอ แล้วรอซื้อตอนที่ราคาทะลุฐานขึ้นไปได้ พบว่าเกินครึ่งผมกำไรกับมัน อีกไม่กี่ตัวที่ต้องขายล็อกกำไร หรือไม่ก็ตัดขาดทุนถ้ามันย่อแรง กระนั้น ในภาพรวมแล้ว มันใช่สำหรับผม
และ cup with handle ผมยังเอาไปใช้กับหุ้นใหม่ๆที่สร้างฐานเสร็จหมาดๆได้ด้วยครับ  ซึ่งหากเราอ่านพฤติกกรรมออก และเชื่อธุรกิจ ก็จะได้ต้นทุนที่ดีมากครับ
52 week high fail breakout + cup with handle นี่ก็ของดีครับ
สรุปคือ cup with handle นี่ เจ๋งสุดๆแล้วในปีที่แล้วสำหรับผม
๒) หุ้นที่วิ่งเป็นอุตสาหกรรม ซิ่งเป็นกลุ่ม ก็ทำให้ตัวเองได้กำไรแบบง่ายๆเช่นกัน และที่แน่นอนคือ ซื้อตอนที่ราคาทะลุ handle นั่นเอง
๓) ล่าสุดผมเริ่มลอง buy on dip ที่เส้นค่าเฉลี่ย กับหุ้นที่เป็นขาขึ้นแข็งแรงและมั่นคงมากๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะเสี่ยง และราคาแพงแล้ว แต่ผลที่ได้กลับดีไม่น้อยเลย คือมันวิ่งต่อ แถมแข็งกว่าตลาดอีกด้วย เดี๋ยวผลของแนวทางนี้ ผมจะทำสรุปให้อ่านกันอีกทีครับ


สุดท้ายคือ #จุดอ่อน ที่อยากเปลี่ยนและพัฒนาให้ดีขึ้นคือ
๑) จุดซื้อของผมยังไม่หลากหลายพอ ต้องมีอาวุธอีกสักอย่างสองอย่าง เพราะหุ้นแต่ละตัวก็มีจุดพักหรือการฟื้นตัวที่ต่างกัน
๒) จุดขายที่หลากหลายกว่าเดิม เหตุผลก็คล้ายกันคือ บางครั้งผมก็ขายในตอนที่ราคาอ่อนแอเกินไป ทำให้ขาดทุนกำไรไปพอสมควร
๓) ความกล้าเกาะกระแสหุ้นกลุ่มนำอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเบอร์หนึ่งของกลุ่ม บ่อยครั้งที่ตัวเองมี bias กับหุ้น lead กลุ่มจนไม่กล้าซื้อ ทำให้พลาดโอกาสงามๆไป เพราะเวลามันเด้ง ตัวนำนี่แหละที่ดีดแรงก่อนใคร วิ่งไกลกว่าเพื่อน
๔) การทนรวยกับหุ้นดีๆ ให้ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ นี่ก็สำคัญ ผมคิดว่าปีหนึ่งๆขอแค่ได้กำไรหุ้นตัวหนึ่งสวยๆนะ เราก็สบาย สามารถอยู่ได้ทั้งปีแล้ว ไม่ต้องดิ้นรนอะไรมากอีก บอกตรงๆว่าโคตรขี้เกียจเริ่มกับตัวใหม่จริงๆ เปลี่ยนทีไร ตัวเก่าซิ่งแหลกทุกที
๕) ไม่กล้าซื้อหุ้นคืน บ่อยครั้งที่ผมขายหมูเพื่อไปซื้อควาย ทำให้เสียโอกาสรันกำไรต่อกับหุ้นตัวดีๆ ซึ่งคงต้องลองซื้อกลับคืนเมื่อเห็นจังหวะเหมาะ หรือเข้า pattern ที่เราเชื่อมั่น

ก็ขอเสียมารยาทโม้เรื่องตัวเองแค่นี้แหละครับ เดี๋ยวถ้าเจออะไรดีๆที่มีประโยชน์ต่อท่านๆผมจะเอามาแชร์ให้อ่านอีกแน่นอน เพราะอย่างที่บอกว่าผมยังเจอจุดอ่อนของตัวเองอีกมหาศาลเลย ยังมีเรื่องต้องหามาเสริมอีกมากมาย เดี่ยวได้อะไรจะมาเล่าสู่กันอีกทีครับ



((โฆษณา))
 เล่นหุ้นขาดทุน อย่าเพิ่งขาดใจ
ยังมีคนโดนหนักกว่าคุณอีก 
นี่คือความรู้ที่เขาได้จากการขาดทุน
ความรู้หุ้น มูลค่า 1 ล้านบาท
ลองหาอ่านดู เผื่อท่านจะได้เห็นทางออก

มีขายเป็น eBook แล้วที่ mebmarket.com
ดูรายละเอียดที่ bit.ly/zyoebook3

7 บทความยอดนิยมในรอบ 30 วันที่ผ่านมา

คำคมเกี่ยวกับเคล็ดวิชาจากหนังเรื่อง กังฟูแพนด้า

รวมแนวทางการนับคลื่นจากเซียน Elliott Wave

ชมฟรี! คอร์สหุ้น ออนไลน์ 170 คลิป จัดเต็ม ไม่มีกั๊ก Free Full Trading Course by Zyo

ดูยังไงว่าเป็น Cup with Handle pattern?

เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการเทรดหุ้น คุณไม่ต้องรอบรู้ไม่ต้องเก่งทุกเรื่องและทุกอย่างหรอก ทำแค่ 7 เรื่องนี้ให้ได้ก็พอ....

อธิบาย Wyckoff Accumulation Phase แบบละเอียดยิบ

ศาสตร์และศิลปะของการปั้นพอร์ต ให้เติบโตสม่ำเสมอ Art & Science of Trading