เหตุใดเราจึงควรใส่ใจเกี่ยวกับแง่มุมทางจิตของการเทรด?

Image
เหตุใดเราจึงควรใส่ใจเกี่ยวกับแง่มุมทางจิตของการเทรด?  Dr. Van K. Tharp พูดเสมอว่า “นักเทรดไม่เทรดตามที่ตลาดเป็นหรอก  แต่พวกเขาเทรดตามความเชื่อของพวกเขา”   เรื่องนี้ผมเห็นด้วยอย่างสมบูรณ์   ความเชื่อของผมมีดังนี้:  1) นักเทรดที่ประสบความสำเร็จมีกลไกการซื้อ/ขายที่สมเหตุสมผลและช่วยให้เขาลงมือตามสัญญาณได้ทันที   2) นักเทรดที่ประสบความสำเร็จมีแนวทางที่สมเหตุสมผลในการกำหนด Position Size ของเขาอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยลดความน่าจะเป็นที่จะถูกทำลาย   3) นักเทรดที่ประสบความสำเร็จมีกลยุทธ์ที่ช่วยลด Drawdown ของ Equity Curve เพื่อทำให้เขาเครียดน้อยลง   4) ตลาดจะเปลี่ยนแปลงเสมอ มันจะขึ้น, ลง, และไซด์เวย์ 5) การลอกกลยุทธ์คนอื่นมาใช้ทั้งดุ้น มักจะไม่เวิร์ค  การสร้างกลยุทธ์หรือพัฒนากลยุทธ์ที่ตรงกับสถานการณ์ของคุณคือแนวทางที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า 6) ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบในการเทรด   7) ตลาดจะทำในสิ่งที่มันอยากจะทำ - Tom Basso จากหนังสือ The All-Weather Trader

(มือใหม่เล่นหุ้น) เล่นหุ้นขาดทุนอย่าเพิ่งขาดใจ อ่านบทความนี้ก่อน!

โดย เซียว จับอิดนึ้ง : facebook.com/zyoit

หลายปีก่อน ผมเคยโพสต์ปัญหาตัวเองว่าขาดทุนหนักได้ยังไง
จำได้ว่ามีบางท่านคอมเมนต์มาว่า ทำไมเพิ่งมาให้ความสำคัญกับเรืองการ stop loss กับ money management ในตอนที่สายไปแบบนี้
ซึ่งเข้าใจมุมมองของท่านนั้นนะ ว่าคงเทรดแล้วชนะทุกครั้งเป็นแน่ ชีวิตการเทรดราบรื่น ไม่เคยขาดทุนหนักๆเลย ซึ่งเป็นคาแร็คเตอร์ของผู้ที่จะร่ำรวยติดอันดับโลกในไม่ช้า

แต่เนื่องจากผมคิดว่า นักเทรดแบบนั้นน่าจะมีไม่เยอะ ในตลาดน่าจะไม่เกิน ๑-๒ คนเป็นแน่ (ซึ่งมีชีวิตที่น่าอิจฉาอย่างยิ่ง) นักเทรดส่วนใหญ่ในโลกนี้น่าจะโดน "ตลาดเล่น" เสียงอมพระราม ขาดทุนกระอัก บางรายถึงกับหมดตัวไปเลยก็มี

ซึ่งผมเห็นใจพวกท่านนะ คือพวกเราเป็นคนไม่เก่ง แต่ก็อาจหาญมาเล่นในเกมส์ยาก แทนที่จะได้ตังค์ กลับกลายเป็นต้องเสียเงินให้คนอื่นรวยไปอย่างช่วยไม่ได้

ผมเองก็เป็นคนโง่ที่อยากรวย และก็จ่ายเงินค่าเทอมให้ตลาดไปเป็นหลักแสนหลักล้าน อย่างไร้เดียงสาเช่นกันครับ (ถ้าท่านไม่ทันก็อ่านบทความนี้ได้ครับ  http://zyo71.blogspot.com/2018/05/how-to-lose-money-in-stock-market.html ) แต่ด้วยความที่เราดื้อ ยังหลอกตัวเองได้อีกว่าถ้าพยายามมากกว่านี้ เรียนรู้มากกว่านี้ เราก็น่าจะเอาคืนได้

ยิ่งพอได้อ่านประวัติของนักเทรดที่ยิ่งใหญ่ ไอดอล ที่ผมชอบ ก็ยิ่งได้กำลังใจใหญ่
เพราะอะไรรู้มั้ยครับ?

พวกเขาต่างเคยหมดตัวกันมาแล้วทั้งสิ้น อย่างน้อยก็หนึ่งครั้ง
- จิม โรเจอร์ส ช็อร์ตเพลิน เชื่อมั่นตัวเองมากเกินไป ชอร์ตสวนตลาดขาขึ้น หมดตัว
- มาร์ค มิเนอร์วินี โดนหลอกให้ถัวเฉลี่ยขาดทุน ไม่กล้าขายตัดขาดทุน หมดตัวไปสองครั้ง
- แดน แซงเกอร์ นี่ก็เชื่อข่าวลือ และกำไรพอร์ตโตเท่าตัวเพลินๆ เจอตลาดกลับตัวแรง เจ๊งยับ
- เดวิด ไรอัน เข้าตลาดก็กำไรเท่าตัว แต่ไม่ยอมเลิกเมื่อตาดเป็นขาลง ก็หมดตัวเช่นกัน
- เจสซี ลิเวอร์มอร์ ใช้อีโก้ ไม่ทำตามแผน หมดตัว หลายครั้ง แต่ก็สามารถกลับมาได้อย่างยิ่งใหญ่
- นิโคลาส ดาร์วาส เล่นหุ้นแบบเม่าตามข่าวลือ หมดตัวไปสองครั้ง กว่าจะสำเร็จ
ฯลฯ

เมื่อรู้แบบนี้ ผมใจชื้นเลย เราไม่ได้โง่นี่นา เราก็แค่รู้ไม่มากพอ
เพราะขนาด Top trader ระดับโลกยังเคยขาดทุนแบบหมดตัวมาก่อนทั้งนั้น
เรามาถูกทางแล้ว การขาดทุนน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางนี้แน่นอน (ผมโลกสวยมากเลยนะ)

แต่ปัญหาต่อไปก็คือ เราต้องหาให้เจอว่า พวกเขาแก้เกมส์ให้กลับมาเป็นผู้ชนะได้ยังไง?
ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าเราเจอวิธีการนั้นได้ ก็มีโอกาสไปต่อได้สูง

เมื่อค้นลึกเข้าไปถึงรายละเอียดหลังจากการขาดทุน ผมได้เบาะแสดังนี้

๑) พวกเขารู้ว่าตัวเองสามารถทำผิดพลาดได้
แน่นอนว่าช่วงแรก เขาอาจจะมีหลงตัวเองไปบ้าง แต่พอโดนตลาดสอนแบบจริงจัง ก็รู้สึกตัว

๒) พวกเขาเรียนรู้จากความผิดพลาด
ทุกคนที่ผมอ่านประวัติ ต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่ามองข้ามความผิดพลาด หยุดและเรียนรู้จากมันให้มากที่สุด มันคือเบาะแสที่บอกว่าเรายังพลาดเรื่องอะไรอยู่บ้าง และต้องหาทางแก้ให้อย่าผิดพลาดซ้ำอีก

๓) เขารู้แล้วว่า อีโก้ ไม่ทำเงิน
ทุกคนแยกแยะออกว่า "อีโก้" กับ "การทำเงิน" มันต่างกันมากแค่ไหน
เพราะอีโก้นี่แหละที่ทำให้เขาไม่กล้าตัดขาดทุน หรือไม่ก็มี bias ทำให้ซื้อหุ้นผิดจังหวะ แถมมันยังโน้มน้าวไม่ให้ขายตัดขาดทุน เพราะกลัวเป็นคนผิด อีโก้ = ความเป็นเด็ก
ส่วนการทำเงิน นั้น มันคือความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นมืออาชีพ พอมีปัญหาไม่งอแง ตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ยอมให้เกิดปัญหาลุกลามจนกระทบงานใหญ่ เป้าหมายหลักที่วางเอาไว้
ซึ่งแน่นอนว่า กว่าจะรู้ตัว แยกแยะออกว่าสิ่งไหนเป็นประโยชน์ ต้องจ่ายค่าเทอมไปมากมาย ฉะนั้น ผมคิดว่าพวกเราที่ขาดทุนอยู่ น่าจะติดหล่มตรงนี้กันเยอะนะครับ ลองไปพิจารณาตัวเองดู

๔) เขาเห็นคุณค่าของความเสี่ยง
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของนักเทรดที่ขาดทุนต้องเจอและปรับปรุงตนเองก็คือ การรู้ว่าความเสี่ยงมีความสำคัญกว่าโอกาส
"โอกาส" ก็คือ "อีโก้" นั่นแหละครับ มันเลื่อนลอย จะได้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้
เราอยากได้กำไรจนตัวสั่น ไม่อยากขาดทุน แต่ว่าการขาดทุนมันเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
ซึ่ง "ขาดทุน" ก็คือ "ความเสี่ยง" ซึ่งหนีไม่พ้น ถ้าไม่ระวังก็ต้องเจอ
นักเทรดที่ขาดทุนซ้ำซาก เป็นเพราะพวกเขา อยากได้กำไรท่าเดียว โดยไม่สนใจการขาดทุน
เมื่อไม่ระวังการขาดทุน ปล่อยให้มันสร้างปัญหา ความเสียหายก็ลุกลามใหญ่โต
ยิ่งเสียเยอะ กว่าจะเอาให้ได้คืนเท่าเดิมต้องพยายามอีกเท่าตัว ซึ่งมันโคตรยาก

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่เขารู้ตัวว่า ต้องระวังความเสี่ยงให้ดีเสียก่อน
เขาจะรีบเคลียร์ปัญหาให้จบตั้งแต่ยังเล็กๆน้อยๆ จะได้ปล่อยให้โอกาสมันเจริญเติบโตงอกงามขึ้นไปได้
การขาดทุนก็เหมือนวัชพืชนั่นแหละครับ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ มันก็จะไปแย่งสารอาหารต้นไม้เงินของคุณไม่ให้เติบโต มันก็จะแคระเกร็น และคุณก็จะไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่คุณปลูกเลย
ดังนั้น เคลียร์สิ่งกีดขวางต่อการเติบโตของเงินท่านออกไปก่อน


๕) เขายึดมั่นกับการ stop loss
เมื่อสามารถแยกแยะ อีโก้ กับ การทำเงิน ออกไปได้ชัดเจนแล้วนั่นแหละครับ  stop loss จะมีความสำคัญขึ้นมาทันที เพราะเขารู้แล้วว่า "เงินต้น" นั้นสำคัญมากแค่ไหน ขาดทุนหมดตัวทีไร ต้องออกไปหาเงินก้อนใหม่อย่างยากลำบาก จึงรู้ตัวแล้วว่าต้องรักษามันไว้ก่อนมุ่งมั่นทำกำไร เพราะเมื่อเทรดนานเข้า ก็ได้รู้เดียงสาอีกอย่างว่า เขาไม่ใช่นายตลาด ไม่สามารถควบคุมตลาดได้ ต้องทำตัวให้ไหลไปตามกระแสเท่านั้น ตลาดให้ก็เอา ถ้าไม่ให้ก็ต้องถอยก่อน การรักษาตัวให้รอดเป็นยอดดี รอจนโอกาสดีๆสวยๆ จึงค่อยเข้าเล่น ซึ่งมันมีมาให้เรื่อยๆ

๖) เขายึดมั่นกับวินัย
อีโก้กับการมีวินัยนั้น มันอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เหมือนนรกกับสวรรค์
อีโก้ มักจะชวนลงต่ำ แต่วินัยคอยขัดขวางไม่ให้ผิดพลาดซ้ำ
พวกเขารู้แล้วว่า ถ้าจะเอาอีโก้ให้อยู่ การวางแผน การสร้างวินัยและทำตามคือสิ่งสำคัญมากที่สุด แม้กระทั่งได้กำไรและอยู่รอดได้แล้วก็ตาม วินัยก็ยังมีส่วนช่วยให้พวกเขาทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้ตัวเองกลับไปขาดทุน ปล่อยให้กำไรก้อนงามกลับคืนไปให้ตลาดแบบเดิมอีก

๗) เขาศรัทธากับคุณค่าของตัวเอง
ข้อสุดท้ายนี้ก็สำคัญไม่น้อยครับ คือการศรัทธาต่อตัวเอง ว่า "ฉันต้องทำได้" ฉันไม่ยอมแพ้ ฉันยินดีรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำลงไป และต้องแก้ไขด้วยตัวฉันเอง
เมื่อล้มเหลว ก็จะไม่ล้มเลิก พยายามศึกษาความผิดพลาดของตัวเอง ก็มีการปรับปรุงตน ให้มีทัศนคติที่ดีขึ้น มีแนวทางการเทรดที่ปิดจุดอ่อนไม่ให้ผิดพลาดซ้ำเดิม
ต่างจากคนส่วนใหญ่ที่ แพ้แล้วแพ้เลย ไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่เชื่อมั่นว่าตัวเองทำได้


นี่คือจุดร่วม ๗ ข้อที่ผมค้นเจอทุกเคสของนักเทรดขั้นเทพที่เคยขาดทุนจนหมดตัว แล้วสามารถเอาคืนทำกำไรได้แบบทบต้นทบดอกครับ

ดังนั้น ถ้าท่านเล่นหุ้นแล้วขาดทุน ก็อย่าไปจิตตก ไปอ่านข้อความเย้ยหยันจากคนที่ฉลาดกว่าคุณ ให้กลับมาโฟกัสตัวเองนี่แหละ แก้ไขที่ตัวเองให้เป็นนักเทรดที่ดีตามครรลองเสียก่อน เพราะตอนนี้คุณก็รู้แล้วว่านักเทรดระดับโลกก็เคยโง่มาก่อน ไม่ได้เก่งตั้งแต่เกิด แต่พวกเขามีความตั้งใจ ความมุ่งมั่นมากกว่าคนเกิดมาฉลาดเป็นร้อยเท่า

โดยจุดเริ่มต้นคือการพัฒนาตัวเองจากภายในครับ แก้ปัญหา แก้จุดอ่อนของตัวให้ไม่สร้างปัญหา รวมถึงมีความเป็นผู้ใหญ่ ไม่มีใครทำให้คุณเก่งได้หรอก ถ้าคุณไม่ปรับแก้ที่ตัวเองครับ

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณมีกำลังใจในการสู้มากขึ้นนะครับ
ล้มเหลวไม่นับว่าแพ้ ถ้าคุณไม่ล้มเลิกก็มีโอกาสกลับมาชนะได้
ความผิดพลาดไม่ใช่ปัญหา มันเป็นตัวช่วยให้คุณรู้ว่าสิ่งใดไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณต่างหาก
มีแต่ผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น ที่เรียนรู้จากความผิดพลาด
คุณล่ะ อยากเป็นนักเทรดแบบไหน?



((โฆษณา))
 เล่นหุ้นขาดทุน อย่าเพิ่งขาดใจ
ยังมีคนโดนหนักกว่าคุณอีก 
นี่คือความรู้ที่เขาได้จากการขาดทุน
ความรู้หุ้น มูลค่า 1 ล้านบาท
ลองหาอ่านดู เผื่อท่านจะได้เห็นทางออก
มีขายเป็น eBook แล้วที่ mebmarket.com
ดูรายละเอียดที่ bit.ly/zyoebook3

7 บทความยอดนิยมในรอบ 30 วันที่ผ่านมา

คำคมเกี่ยวกับเคล็ดวิชาจากหนังเรื่อง กังฟูแพนด้า

รวมแนวทางการนับคลื่นจากเซียน Elliott Wave

ชมฟรี! คอร์สหุ้น ออนไลน์ 170 คลิป จัดเต็ม ไม่มีกั๊ก Free Full Trading Course by Zyo

เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในการเทรดหุ้น คุณไม่ต้องรอบรู้ไม่ต้องเก่งทุกเรื่องและทุกอย่างหรอก ทำแค่ 7 เรื่องนี้ให้ได้ก็พอ....

ดูยังไงว่าเป็น Cup with Handle pattern?

อธิบาย Wyckoff Accumulation Phase แบบละเอียดยิบ

ศาสตร์และศิลปะของการปั้นพอร์ต ให้เติบโตสม่ำเสมอ Art & Science of Trading